วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยา

“จิตวิทยา” (มีสัญลักษณ์ คือ Ψ) ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Psychology ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำในภาษากรีก 2 คำ คือ Psyche กับ Logos – คำว่า Psyche หมายถึง จิต (Mind) หรือ วิญญาณ (Soul) และคำว่า Logos หมายถึง การศึกษา (Study) ดังนั้นเมื่อสองคำนี้มารวมกัน คำว่า Psychology จึงมีความหมายตามคำศัพท์ดั้งเดิมคือ การศึกษาเกี่ยวกับจิต หรือวิญญาณ[1] (the Study of mind or soul)
ในสมัยก่อน นักจิตวิทยามีความเชื่อว่า “วิญญาณ... มีอิทธิพลเหนือร่างกายมนุษย์ และเป็นผู้สั่งให้ร่างกายของคนเรากระทำสิ่งต่างๆ” (สุชา จันทน์เอม, 2541, หน้า 2) อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิญญาณในฐานะที่เป็นต้นเหตุของการกระทำของมนุษย์เป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่สามารถที่จะระบุได้ว่า วิญญาณนั้นอยู่ตรงไหนของร่างกาย ดังนั้นในยุคต่อมา นักจิตวิทยาจึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า “วิญญาณเป็นผู้สั่งให้กระทำ” แต่ได้เบนความสนใจไปศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์แทน เพราะสามารถศึกษาและทดลองได้ และในปัจจุบันนี้นักจิตวิทยาได้ให้ความสำคัญต่อกระบวนการคิดของมนุษย์ด้วย ดังนั้น สิ่งที่ศึกษาในสาขาจิตวิทยาคือ พฤติกรรม (Behavior) และกระบวนการคิด (Mental Processes)
วิธีการศึกษาทางจิตวิทยา สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ยุคด้วยกัน คือ ยุคเก่า และยุคใหม่ – ในยุคเก่านั้น นักจิตวิทยา “มักนั่งศึกษาอยู่กับโต๊ะทำงาน ไม่เคยไปทำการทดลองเพื่อหาความจริงต่างๆมาสนับสนุนเลย เป็นวิชาที่ศึกษาโดยใช้ความคิดเห็นของตนเองแต่เพียงอย่างเดียว” วิธีการนี้เรียกว่า การศึกษาแบบ อาร์ม แชร์ หรือ Arm-Chair Method (สุชา จันทน์เอม, 2541, หน้า 3) สำหรับวิธีการศึกษาในยุคใหม่นั้น เริ่มต้นในช่วงปี 1890 นักจิตวิทยาไม่เห็นด้วยกับวิธีการศึกษาแบบนั่งโต๊ะทำงาน ด้วยความเชื่อว่า “การศึกษาเกี่ยวกับการทำงานและจิตใจของมนุษย์ ... จะต้องมีวิธีการทดลอง ... จะต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ ในห้องทดลองเข้าช่วย ... จะต้องอาศัยวิชาการทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย” (สุชา จันทน์เอม, 2541, หน้า 4) ด้วยแนวความคิดนี้ นักจิตวิทยาจึงเริ่มหาแนวทางในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่นั้นมา
เมื่อแนวคิดของนักจิตวิทยาเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องศึกษา และวิธีการศึกษา ได้มีการพัฒนา เช่น จากมุ่งที่วิญญาณมาเป็นมุ่งศึกษาพฤติกรรมและกระบวนการคิด และจากการนั่งโต๊ะทำงานเป็นทดลองศึกษาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ คำนิยามของ “จิตวิทยา” ที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันนี้ คือ “การศึกษาพฤติกรรม และกระบวนการรู้คิดด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (The study of behavior and cognitive processes with scientific method)” จากคำนิยามนี้ คำถามที่เกิดขึ้น คือ พฤติกรรมคืออะไร กระบวนการคิดคืออะไร และวิธีการทางวิทยาศาสตร์คืออะไร
มีนักจิตวิทยาหลายท่านด้วยกันได้ให้คำนิยามคำว่า “พฤติกรรม” ดังนี้
ลักขณา สริวัฒน์ (2544) ได้อธิบายไว้ว่า พฤติกรรม คือ “การกระทำซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึก นึกคิด ความต้องการของจิตใจที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าซึ่งอาจสังเกตเห็นได้โดยทางตรง หรือทางอ้อม บางลักษณะอาจสังเกตได้โดยไม่ใช้เครื่องมือช่วยหรือต้องใช้เครื่องมือช่วย” (หน้า 17)
แซนทรอก (Santrock, 2005) ได้นิยามว่า พฤติกรรม เป็น “ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทำ ซึ่งสามารถสังเกตได้โดยตรง
[2]” (หน้า 6)
บารอน (Baron, 1999) ได้อธิบายว่า พฤติกรรม คือ “การกระทำ หรือปฏิกิริยาตอบสนองที่สามารถสังเกตได้ … ทุกสิ่งตั้งแต่ การกระทำที่แสดงออกอย่างเปิดเผย จนถึง การเปลี่ยนแปลงของปฏิกิริยาทางเคมีที่อยู่ลึกลงไปในสมอง” (หน้า 5)
แม้ว่าคำนิยามทั้งสามนี้จะมีส่วนแตกต่างกันบ้าง แต่หากสรุปแล้ว คำว่า “พฤติกรรม” คือ การกระทำ หรือปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองสิ่งเร้า พฤติกรรมสามารถสังเกตได้โดยตรง หรือจากการสังเกตทางอ้อม โดยใช้เครื่องมือช่วย
พฤติกรรม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ พฤติกรรมภายนอก (Overt Behavior) และพฤติกรรมภายใน (Covert Behavior)
1. พฤติกรรมภายนอก – เป็นพฤติกรรมที่สังเกตได้อาจจะโดยตรง หรือผ่านการใช้เครื่องมือช่วย ตัวอย่างของพฤติกรรมประเภทนี้ เช่น การเดิน การวิ่ง การกิน การนั่ง การปั่นจักรยาน การเต้นของชีพจร การเต้นของหัวใจ เป็นต้น
2. พฤติกรรมภายใน – เป็นพฤติกรรมที่สังเกตเห็นไม่ได้ หรือสังเกตได้ยาก นักจิตวิทยามักจะอาศัยการอ้างอิงจากการสังเกตพฤติกรรมภายนอก พฤติกรรมประเภทนี้ เช่น การนึกคิด (Thoughts) การรู้สึก (Feelings) อารมณ์ (Emotions) และแรงจูงใจ (Motives)
คำสำคัญอีกคำหนึ่งของจิตวิทยา คือ วิธีทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) – นั่นคือ การศึกษาที่มีระบบ มีการสังเกต อธิบายและทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ การศึกษาในสาขาจิตวิทยาก็เช่นเดียวกัน มีการศึกษาพฤติกรรมและกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อเข้าใจพฤติกรรมของบุคคล อธิบายพฤติกรรมและเหตุแห่งพฤติกรรมนั้น เมื่อสามารถอธิบายได้เราก็สามารถทำนายได้ว่า หากเกิดเหตุนี้ขึ้น จะส่งผลอย่างไร และสุดท้ายก็เพื่อควบคุมพฤติกรรมนั้น
จิตวิทยาถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์เมื่อ วิลเฮล์ม วุ้นดท์ (Wilhelm Wundt 1832-1920) ได้ศึกษาความรู้สึกและการรับรู้ของบุคคลในห้องทดลองในมหาวิทยาลัย Leipzig ประเทศเยอรมนี ซึ่งถือว่าเป็นห้องทดลองทางจิตวิทยาแห่งแรกของโลก วิธีที่ Wundt ใช้ศึกษาพฤติกรรมนั้น เรียกว่า การพินิจภายใน (Introspection) นั่นคือ Wundt ได้ให้ผู้รับการทดลองที่กำลังอยู่ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ เช่น ได้ยินเสียงเคาะโต๊ะเรื่อยๆ เป็นต้น แล้วให้ผู้รับการทดลองพยายามรายงานออกมาว่า มีเกิดอะไรขึ้นในภายในใจของผู้รับการทดลอง – เพราะการทดลองของ Wundt เป็นการทดลองทางจิตวิทยาครั้งแรกของโลก และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของจิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้น Wundt จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งจิตวิทยา”
นักจิตวิทยาอีกท่านหนึ่งที่ได้ทำการทดลองทางจิตวิทยาเป็นกลุ่มแรกๆ คือ เฮอร์แมนน์ แอ็บบิงเฮ้าส์ (Hermann Ebbinghaus 1850-1909) ที่ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการจำและการลืม Ebbinghaus ได้ดำเนินการทดลองซ้ำๆกันหลายครั้งอย่างต่อเนื่องหลายปีจนได้ข้อสรุปแล้วเผยแพร่ผลงาน ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
สรุป: จิตวิทยา หมายถึง “การศึกษาพฤติกรรม และกระบวนการรู้คิดด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (The study of behavior and cognitive processes with scientific method)” โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ (พฤติกรรมที่แสดงออก) อธิบาย ทำนายหรือพยากรณ์ และควบคุมพฤติกรรมได้
บทบาทและหน้าที่ของครู
ทวีป อภิสิทธิ์ (อ้างอิงจาก ประสาท อิสรปรีดา, 2549, หน้า 16) อธิบายหน้าที่ของครู ตามคำ “TEACHERS” ไว้ดังนี้:
T: Teaching – สอนและถ่ายทอดความรู้
E: Ethic – มีคุณธรรม มีเมตตาธรรม
A: Academic – เป็นนักวิชาการที่มีความรอบรู้ และใฝ่หาความรู้อย่างสม่ำเสมอ
C: Cultural Heritage – ถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นให้แก่ชนรุ่นหลัง
H: Human Relationship – มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
E: Evaluation – รู้และเข้าใจในกระบวนการวัดและประเมินผลเป็นอย่างดี
R: Research – สนใจ ค้นคว้า ใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ และสามารถนำความรู้ ผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน
S: Service – มีจิตบริการ ไม่ใช่เพียงทำหน้าที่สอนเท่านั้น แต่จะต้องมีจิตบริการด้านอื่นๆ เช่น การแนะแนว การให้คำปรึกษา การจัดสวัสดิการแก่นักเรียน การกระตุ้นให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียน เป็นผู้นำที่ดี เป็นแม่แบบที่ดี เป็นต้น
Shulman (อ้างอิงจาก Woolfolk, 1998) ได้กำหนดลักษณะบทบาทของครูในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้:
1. มีความรู้ในเนื้อหาที่สอน
2. มีความรู้ด้านกลวิธีการสอนต่างๆ เช่น การจัดการชั้นเรียน การสอนที่มีประสิทธิภาพ และการวัดผล
3. เลือกอุปกรณ์และเครื่องมือในการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียน
4. มีความรู้เฉพาะเพื่อส่งเสริมการสอน เช่น แนวทางการสอนนักเรียนพิเศษ การสอนเนื้อหาที่เฉพาะ
5. มีความรู้เกี่ยวกับตัวนักเรียน เช่น บุคลิกลักษณะของนักเรียน เบื้องหลังทางวัฒนธรรม
6. สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย เช่น การอภิปรายกลุ่ม การทำงานเป็นกลุ่ม การจับคู่เพื่อช่วยกันทำงาน
7. กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการสอน

นอกจากนี้ โณทัย อุดมบุญญานุภาพ, ศึกษานิเทศก์ ๙, หัวหน้ากลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพท.กาฬสินธุ์ เขต 1, ได้เขียนบทความเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “คุณลักษณะครูรุ่นใหม่กับการปฏิรูปหลักสูตรผลิตครูในศตวรรษ 21” ซึ่งรายละเอียดที่น่าสนใจมีดังนี้:
คุณลักษณะครูรุ่นใหม่ควรมีลักษณะอย่างไร
ตัวบ่งชี้คุณลักษณะครูตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาด้านปัจจัยเพื่อประเมินภายนอก 4 มาตรฐาน 12 ตัวบ่งชี้ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ดังนี้
1. มาตรฐานด้านมีวิญญาณความเป็นครู มีคุณธรรมจริยธรรม ประกอบด้วย
ตัวบ่งชี้ 1 ครูมีความเอื้ออาทร เข้าใจและเอาใจใส่ผู้เรียนทุกคนอย่างสม่ำเสมอและเท่าเทียมกัน
ตัวบ่งชี้ 2 ครูมีมนุษยสัมพันธ์ ควบคุมอารมณ์ได้และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
ตัวบ่งชี้ 3 ครูมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา อุทิศตนให้กับการพัฒนาผู้เรียน
ตัวบ่งชี้ 4 ครูวางตนเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความประพฤติและบุคลิกภาพ
ตัวบ่งชี้ 5 ครูมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพครู
2. มาตรฐานด้านความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ประกอบด้วย
ตัวบ่งชี้ 1 ครูรู้เป้าหมายของหลักสูตรและเป้าหมายการจัดการศึกษา
ตัวบ่งชี้ 2 ครูมีความรู้ความสามารถในการประเมินผลการเรียนการสอน จัดทำแผนและกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ตัวบ่งชี้ 3 ครูมีความรู้ความสามรถในการเรียนการสอนและการนำผลการประเมินมาใช้พัฒนาคุณภาพ
3. มาตรฐานด้านความสามารถในการแสวงหาความรู้ คิดวิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนประกอบด้วย
ตัวบ่งชี้ 1 ครูมีนิสัยรักการแสวงหาความรู้และข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาการเรียนสอน
ตัวบ่งชี้ 2 ครูมีความสามารถในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอน
ตัวบ่งชี้ 3 ครูมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขสถานการณ์ได้
4. มาตรฐานด้านคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ
ตัวบ่งชี้ 1 ครูมีคุณวุฒิ มีความถนัด มีความเชี่ยวชาญตรงกับงานที่ปฏิบัติการสอน
(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543ก)
หลักและมาตรฐานคุณลักษณะตามเกณฑ์การประเมินครูใหม่ 10 ประการเพื่อการออกใบประกอบวิชาชีพครู มาตรฐานนี้เทียบเท่าวุฒิบัตรชั้นสูงของสภาแห่งชาติด้านมาตรฐานวิชาชีพการสอน (NBPTS) ได้แก่
หลักประการที่ 1 ครูต้องเข้าใจความคิดหลัก เครื่องมือที่จะใช้หาความรู้และโครงสร้างของหลักการที่ใช้สอน และสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทำให้ลักษณะต่าง ๆ นี้มีความหมายแก่นักเรียน
หลักประการที่ 2 ครูต้องเข้าใจว่าเด็กเรียนรู้อย่างไรและพัฒนาอย่างไรและสามารถตระเตรียมโอกาสแห่งการเรียนรู้ที่สนับสนุนการพัฒนาทางสติปัญญาและสังคมส่วนบุคคล
หลักประการที่ 3 ครูต้องเข้าใจว่านักเรียนแตกต่างกันอย่างไรในการมีแนวทางเรียนรู้และครูต้องสร้างโอกาสทางการสอนที่มีการปรับให้เข้ากับนักเรียนที่มีความหลากหลาย
หลักประการที่ 4 ครูต้องเข้าใจและใช้ยุทธศาสตร์การสอนต่าง ๆ ที่จะช่วยเร่งเร้าการพัฒนาของนักเรียนให้มีความคิด รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ แก้ปัญหาและแสดงทักษะได้
หลักประการที่ 5 ครูต้องใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบันดาลใจและพฤติกรรมของกลุ่มและส่วนบุคคลที่จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เร่งเร้าการพบปะสังสรรค์ทางสังคม การเข้าไปเกี่ยวข้องในการเรียนรู้และการสร้างพลังใจของตนเอง
หลักประการที่ 6 ครูต้องใช้ความรู้ที่มีประสิทธิภาพในหลักการนิเทศด้านการใช้คำพูด การไม่ใช้ถ้อยคำและสื่อที่จะให้มีการเรียนรู้อย่างจริงจัง มีการร่วมมือ การพบปะสังสรรค์ในชั้นเรียน
หลักประการที่ 7 ครูต้องวางแผนการสอนโดยมีพื้นฐานทางความรู้ในเรื่องราวที่สอนประชาคม และเป้าหมายในหลักสูตร
หลักประการที่ 8 ครูต้องเข้าใจและใช้ยุทธศาสตร์การประเมินอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการในการวัดผลและให้มั่นใจว่านักเรียนได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทางปัญญา ทางสังคมและทางกายภาพ
หลักประการที่ 9 ครูต้องเป็นนักปฏิบัติที่มีการทบทวนตนเอง โดยวัดผลอย่างต่อเนื่องในผลของทางเลือกและการปฏิบัติต่อคนอื่นๆ (นักเรียน ผู้ปกครองและผู้มีวิชาชีพในประชาคมแห่งการเรียนรู้) และเป็นผู้เสาะแสวงหาโอกาสที่จะมีการเติบโตในทางวิชาชีพ
หลักประการที่ 10 ครูต้องสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในโรงเรียน ผู้ปกครอง และองค์กรในประชาคมที่กว้างขวางมากขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2540ก)
คุณสมบัติ 6 ประการตามมาตรฐานครูแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (Advanced Skills Teacher)
1. ครูมีผลงานเป็นเลิศ โดยมีผลการสอนที่ปรากฏที่ตัวนักเรียนโดยนักเรียนแสดงผลการเรียนและพฤติกรรมอย่างสูง อย่างสม่ำเสมอ มีหลักฐานแสดงผลร่วมกับผู้ปกครองและผู้ปกครองมีความพอใจ
2. ครูมีความเป็นเลิศในวิชาที่สอนหรือความรู้ในสาขาวิชาพิเศษ โดยมีความรู้ในวิชาที่ตนสอนอย่างเชี่ยวชาญ ลึกซึ้ง กว้างขวาง ทันตามความก้าวหน้าของวิชาการ ครูมีความเข้าใจการใช้ข้อมูลระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารในการสอนวิชาของตนอย่างเชี่ยวชาญ
3. ครูมีความสามารถในการวางแผนอย่างดี โดยเตรียมบทเรียน และลำดับการสอนอย่างมีวัตถุประสงค์ที่ชัดแจ้ง มุ่งให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างประสบผลสำเร็จ มีความคาดหวังสูงให้กับนักเรียน และครูสามารถวางแผนการสอนโดยใช้ประโยชน์จากผลการเรียนของนักเรียนทั้งในอดีตและปัจจุบัน
4. ครูมีความสามารถเป็นเลิศในการสอน การจัดการานักเรียนและการรักษาวินัยในห้องเรียนอย่าง สร้างสรรค์ ท้าทายและมีความสุขโดยครูมีความสามารถใช้วิธีสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถท้าทายให้กลุ่มนักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ กระตือรือร้น สามารถใช้คำถามและอธิบายยกตัวอย่าง สาธิต อย่างชำนาญการเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าสูงสุด มีความสามารถในการช่วยเหลือนักเรียนที่มีความยุ่งยากในการเรียนและความประพฤติ ครูสามารถรักษาความเคารพนับถือและรักษาวินัยในห้องเรียนได้อย่างยุติธรรม
5. ครูมีความเป็นเลิศในการประเมิน โดยใช้วิธีการประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งของการสอนและปรับปรุงการสอนจากผลการประเมิน ให้สัมพันธ์กับความก้าวหน้าของนักเรียนและเป้าหมาย
6. ครูมีความเป็นเลิศในการให้คำแนะนำและสนับสนุนเพื่อนครู โดยสามารถให้ข้อมูลย้อนกลับไปให้การสนับสนุน คำแนะนำอย่างดีแก่เพื่อนครู สามารถทำตัวเป็นแบบอย่างในการสอน สาธิต ฝึกอบรม ให้ความร่วมมือ ทั้งในโรงเรียนของตนและสถานการณ์อื่นอย่างมีคุณค่า รู้วิธีการวางแผนและจัดลำดับความสำคัญของเวลาและกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมงาน (สรุศักดิ์ หลายมาลา, 2543 ; สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543ก ; Advance Skills Teachers (cited 2000 Oct , 10) Avaible from URL: http://www.dfee.gov.uk/ast/index.htm)
คุณลักษณะครูรุ่นใหม่ที่สำคัญและเป็นจุดเด่นในศตวรรษที่ 21 ควรมีคุณลักษณะดังนี้
1. มีความสนใจเสาะแสวงหาความรู้ กระตือรือร้นที่อยากเรียนรู้และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
2. มีความรอบรู้ด้านปรัชญาการศึกษา นโยบายทางการศึกษา กฎหมายการศึกษา มาตรฐานวิชาชีพครู มาตรฐานการศึกษา จิตวิทยาการศึกษาและหลักสูตรการสอนทั่วไป
3. มีความรอบรู้ความสามารถที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์และทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยสามารถเชื่อมโยงสภาพท้องถิ่นเข้ากับมาตรฐานสากลในลักษณะสหวิทยาการ
4. มีความรู้ความสามารถในวิธีการแสวงหาความรู้
5. รู้จักและเข้าใจพัฒนาการของผู้เรียน
6. มีความรู้และทักษะในวิชาชีพที่สอนอย่างลุ่มลึก ชัดเจน สามารถสอนแล้วผู้เรียนเข้าใจมีความสามารถเรียนรู้ได้และสนุกกับการ เรียนรู้ สอนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเต็ม ความสามารถ เต็มเวลา และเต็มหลักสูตร
7. มีความสามารถในการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่กระตุ้นความสนใจใฝ่รู้และมีความสุข สนุกในการเรียนการสอนมีความสามารถในการสังเกตและรู้จักแก้ไขพฤติกรรม การเสริมแรงและการลงโทษที่เหมาะสม
8. มีทักษะในการสอนอย่างเชี่ยวชาญและสร้างสรรค์การเรียนรู้จนสามารถพัฒนาผู้เรียนได้เต็มศักยภาพตามความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยปลุกเร้าให้ผู้เรียนแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ เน้นการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสนองผู้เรียนเป็นสำคัญ
9. มีความรู้และความเข้าใจในเป้าหมายและวิธีการของหลักสูตรและการสอน
10. มีความสามารถในการออกแบบ วางแผนการสอนการบริหารจัดการชั้นเรียน วิจัยและพัฒนาการสอน มีความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถวัดผลประเมินผลพัฒนาการของการเรียนรู้ได้หลายวิธีได้อย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ
11. มีความรัก ศรัทธาที่จะเป็นครู มีความเมตตากรุณาและเป็นกัลยาณมิตรของศิษย์
12. มีจริยธรรม มีกริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย วางตนอยู่ในศีลธรรมอันดีเปี่ยมด้วยคุณธรรมฝึกหัดปฏิบัติตนยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพครูโดยชี้แนะทางถูกต้องแก้ไขสิ่งผิดและยึดมั่นตามหลักศาสนา
13. มีบุคลิกภาพดีเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กและสาธารณชน ในด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และการดำรงชีวิต
14. มีความรับผิดชอบในหน้าที่มุ่งมั่นในการทำงานทำงานเป็นระบบและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
15. มีความสามารถในการปลูกฝังวินัย คุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่ดี และถูกต้องต่อผู้เรียน
16. ความสามารถในการจัดระเบียบเนื้อหาสาระการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับพัฒนาการผู้เรียนและมีความสามารถพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นได้ตรงความต้องการของท้องถิ่น
(คัดลอกจาก
http://school.obec.go.th/nitest/article02.doc)

จากข้อมูลที่นำเสนอข้างต้น จะเห็นได้ว่า “บทบาทและหน้าที่ของครู” ไม่ใช่เพียงแค่การถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ในวิชาที่ตนรับผิดชอบเท่านั้น หากแต่มีภาระหน้าที่ รับผิดชอบในหลากหลายด้านด้วยกัน
ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันนี้ วิชาชีพครูถูกกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุม นั่นหมายถึง ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพครู (รวมทั้ง “ข้าราชการครู” “ครูอัตราจ้าง” “พนักงานราชการ” และ “ครูชาวต่างประเทศ”) จะต้องมี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” (หลักเกณฑ์การสอบมาตรฐานวิชาชีพ download ได้ที่
http://www.ksp.or.th/upload/303/files/781-5206.pdf) เพราะวิชาชีพครูได้รับการยกย่องว่าเป็น “วิชาชีพชั้นสูง” – “... เพราะมีผลกระทบต่อผู้รับบริการและสาธารณชน จึงต้องมีการควบคุมการประกอบวิชาชีพเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้รับบริการและสาธารณชน โดยผู้ประกอบวิชาชีพต้องประกอบวิชาชีพด้วยวิธีการแห่งปัญญา (Intellectual Method) ได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างเพียงพอ (Long Period of Training) มีอิสระในการใช้วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพ (Professional Autonomy) และมีจรรยาบรรณของวิชาชีพ (Professional Ethics) รวมทั้งต้องมีสถาบันวิชาชีพ (Professional Institution) หรือองค์กรวิชาชีพ (Professional Organization) เป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์จรรโลงวิชาชีพ” (อ้างอิงจาก http://www.ksp.or.th/upload/278/files/434-2333.pdf )
สำหรับบทบาทความสำคัญของวิชาชีพทางวิชาชีพ ได้ถูกกำหนดไว้ดังนี้
1. สร้างพลเมืองดีของประเทศ โดยการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองดีตามที่ประเทศชาติต้องการ
2. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสนองตอบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
3. สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติ จากคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง ให้มีการรักษาความเป็นชาติไว้อย่างมั่นคงยาวนาน (อ้างอิงจาก
http://www.ksp.or.th/upload/278/files/434-2333.pdf )

เพราะวิชาชีพครูมีความสำคัญอย่างยิ่ง “ครู” จึงถูกกำหนดว่า ครูจะต้องมีความรู้ที่เหมาะสมกับ “วิชาชีพครู” ดังนั้น จึงได้มีข้อกำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นครู จะต้องมีความรู้ในวิชาต่อไปนี้
1. ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู
2. การพัฒนาหลักสูตร
3. การจัดการเรียนรู้
4. จิตวิทยาสำหรับครู
5. การวัดและประเมินผลการศึกษา
6. การบริหารจัดการในห้องเรียน
7. การวิจัยทางการศึกษา
8. นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
9. ความเป็นครู
(อ้างอิงจาก
http://www.ksp.or.th/upload/278/files/434-2333.pdf )

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ผู้เป็นครูจะต้องรู้ ไม่ใช่เพียงเนื้อหาวิชาที่ตนได้รับผิดชอบสอนเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับความรู้ด้านอื่นๆ เพื่อประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาเยาวชนของชาติให้เป็น “คนดี คนเก่ง และคนมีความสุข”

*หมายเหตุ จงภูมิใจเถิดที่ได้เป็นครู เป็นผู้ทำหน้าที่อันสำคัญในการสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ที่จะนำพาประเทศชาติไทยเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ที่จะทำให้ชาติไทย ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก!!!


















ตารางกำหนดการเรียนการสอน
หน่วยที่
สาระการเรียนรู้
ครั้งที่

ปฐมนิเทศ/แนะนำการเรียนการสอน กฎ กติกา มารยาทในชั้นเรียน
1
1
ความรู้เบื้องต้นทางจิตวิทยา
บทบาทและหน้าที่ของครู
2
2
- พัฒนาการด้านต่างๆ: ทางด้านร่างกาย, ทางด้านปัญญา, ทางด้านจิตสังคม
3-5
3
เชาวน์ปัญญา
6

สอบกลางภาค
7
4
ความคิดสร้างสรรค์
8
5
สไตล์การคิดและสไตล์การเรียน
9
6
ทฤษฎีการเรียนรู้: แนวคิดทางพฤติกรรมนิยม, แนวคิดทางกลุ่มประมวลสารสนเทศ, แนวคิดกลุ่มพุทธินิยม, แนวคิดกลุ่มมานุษยนิยม
10-12
7
แรงจูงใจ
13
8
การจัดการและวินัยในชั้นเรียน
14-15

สอบปลายภาค
16
ตารางเวลาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง

ตำรา
ประสาท อิสรปรีดา (2549) สารัตถะจิตวิทยาการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 6) มหาสารคาม: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
พนม ลิ้มอารีย์ (2548) ทฤษฎีการเรียนรู้ มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
พรรณี ช. เจนจิต (2538) จิตวิทยาการเรียนการสอน (พิมพ์ครั้งที่ 4) กรุงเทพมหานคร: ต้นอ้อ แกรมมี่
ไพบูลย์ เทวรักษ์ (2540) จิตวิทยาการเรียนรู้ กรุงเทพมหานคร: เอส ดี เพรส การพิมพ์
ศรีเรือน แก้วกังวาน (2539) ทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 4) กรุงเทพมหานคร: หมอชาวบ้าน
โสภา ชูพิกุลชัย (2529) ความรู้เบื้องต้นทางจิตวิทยา กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ.ส.
Baron, R. A. (1999). Essentials of Psychology (2nd ed.). Boston, MA: Allyn and Bacon
Santrock, J. W. (2005). Psychology (7th ed.). New York, NY: McGraw-Hill
Woolfolk, A. E. (1998). Educational Psychology (7th ed.). Boston, M.A.: Allyn and Bacon
เอกสาร download จาก Internet:
โณทัย อุดมบุญญานุภาพ, “คุณลักษณะครูรุ่นใหม่กับการปฏิรูปหลักสูตรผลิตครูในศตวรรษ 21”, download วันที่ 14 มีนาคม 2552 จาก
http://school.obec.go.th/nitest/article02.doc
มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา, download วันที่ 14 มีนาคม 2552 จาก
http://www.ksp.or.th/upload/278/files/434-2333.pdf

[1] คำว่า วิญญาณในที่นี้ มีความหมายทางศาสนา (โดยเฉพาะศาสนาคริสต์) ในยุคนั้น เชื่อว่า กายกับจิตของมนุษย์นั้นเป็นสองสิ่งที่แยกกัน นักปรัชญาบางท่านเชื่อว่า จิต เป็นตัวกำหนดหรือมีอิทธิพลต่อกาย
[2] จากคำนิยามนี้ ดูเหมือนว่า “กระบวนการรู้คิด” ไม่ได้รวมอยู่ในขอบข่ายของคำว่า พฤติกรรม – นั่นก็เพราะว่าตำราภาษาอังกฤษใหม่ๆ ไม่ได้แบ่งพฤติกรรมออกเป็นพฤติกรรมภายนอกกับพฤติกรรมภายใน แต่จะแบ่งเป็น พฤติกรรมกับกระบวนการรู้คิด ซึ่งกระบวนการรู้คิดในที่นี้ก็คือ พฤติกรรมภายใน นั่นเอง ดังนั้น กระบวนการคิด จึงยังคงถือว่าเป็นประเภทหนึ่งของพฤติกรรม นั่นคือ พฤติกรรมภายใน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น